โลโก้สมาคมฯ

ข้อบังคับสมาคม

ข้อบังคับ

สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้

หมวดที่  1

ข้อความทั่วไป

ข้อ 1 ชื่อสมาคม สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ อักษรย่อ ส.ศ.บ.ต. ชื่อภาษาอังกฤษ  SOUTH  ALUMNI  ASSOCIATION  OF  THE  BLIND อักษรย่อ  SAAB

ข้อ 2 สัญญาลักษณ์ของสมาคมศิษย์เก่า  โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ คือ เป็นรูปดวงตาด้านในรูปดวงตาเป็นรูปคนผู้หญิงและชายยืนอุ้มดวงตาดำด้านล่างถัดจากคนที่อุ้มดวงตาลงมาเป็นชื่อย่อ  SAAB  ใต้รูปดวงตาด้านนอกเป็นชื่อเต็มสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้  และขีดเส้นใต้ด้วยเส้นโค้งครึ่งวงกลมส่วนด้านซ้ายและขวาของดวงตาด้านนอกเป็นรูปลายไทยตรงขึ้นไปด้านบนส่วนด้านบนของดวงตามีเส้นโค้งครึ่งวงกลมด้านบนเส้นโค้งครึ่งวงกลมด้านบนเส้นโค้งครึ่งวงกลมเป็นรูปชฎาและมีคนตาบอดยืนอยู่ด้านซ้ายและขวาของชฎาถือไม้เท้าให้ปลายไม้ฝ้ายกันตรงกับฐานของชฎา

           ข้อ 3 สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ ตั้งอยู่เลขที่  224/71  หมู่ที่ 2  ถนนศรีวิชัย ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี  84000

หมวดที่  2

วัตถุประสงค์

ข้อ 4  สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

          4.1 ส่งเสริมการรวมตัวของศิษย์เก่า  เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ศิษย์เก่า  และการศึกษาของคนตาบอด

          4.2 เป็นตัวแทนของศิษย์เก่าในการประสานและเสริมสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน  เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาในด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของศิษย์เก่า

          4.3 ส่งเสริมและพัฒนาให้ศิษย์เก่าได้ประกอบอาชีพอิสระในท้องถิ่น อาทิ อาชีพเกษตรกรรม หรืออื่น ๆ  ตามความถนัด ความสนใจของศิษย์เก่า เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน รวมทั้งค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อการประกอบอาชีพให้กับสมาชิกสมาคม ตามที่กฎหมายคนพิการกำหนด

          4.4 สนับสนุนการมีส่วนร่วมของศิษย์เก่าในกิจกรรมของโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้              จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือกิจกรรมอื่นใดที่เป็นไปเพื่อสาธารณะประโยชน์

4.5 ส่งเสริมให้ศิษย์เก่าสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารสำหรับคนตาบอด รวมทั้งการส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้โดยสะดวก

4.6 สมาคมจะไม่ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการพนันทุกประเภท

4.7 สมาคมจะไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด

          4.8 ไม่จัดให้มีการตั้งโต๊ะสนุกเกอร์หรือโต๊ะบิลเลียดแต่อย่างใด

          4.9 รับสัมปทานจากรัฐในการประกอบกิจการต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้คนตาบอดได้ประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น ค้าสลาก โดยจำหน่ายสลากทุกประเภทที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือรัฐบาลพิมพ์ออกจำหน่าย ทั้งนี้ตามความรู้และความสนใจของแต่ละบุคคล

หมวดที่  3

สมาชิก

ข้อ 5  สมาชิกของสมาคมมี  2  ประเภท

          5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่ คนตาบอดที่เคยเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้     

จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          5.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมได้มีมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม

ข้อ 6  สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

          6.1 เป็นคนตาบอดตามกฎหมาย  มีภูมิลำเนาในประเทศไทย เคยเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีอายุ 15 ปี บริบูรณ์

          6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

          6.3 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ

          6.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นไปในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคม

ข้อ 7  ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม

          7.1 ค่าลงทะเบียนสมาชิก  20  บาท

          7.2 ค่าบำรุงสมาคม

                   7.2.1 ค่าบำรุงสมาคมรายปี ปีละ  50 บาท

                   7.2.2 ค่าบำรุงสมาคมตลอดชีพ  300 บาท

          7.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อ 8  การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม

          ให้ผู้ที่ประสงค์ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการ  โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน และให้เลขานุการติดประกาศ ณ สำนักงานของสมาคม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า  7 วัน  เพื่อให้สมาชิกอื่น ๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วก็ให้เลขานุการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี)  เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมเพื่อพิจารณาอนุมัติว่า จะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาการสมัครแล้ว      ผลเป็นประการใดให้เลขานุการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

ข้อ 9  การพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเป็นสมาชิก

            ถ้าคณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ และสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียน  และค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม  ภายในกำหนดให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ 10  สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์

          สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการบริหารสมาคมได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้มาถึงยังสมาคม

ข้อ 11  สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

          11.1  ตาย

          11.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม และคณะกรรมการบริหารสมาคมได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย

          11.3 ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกตามข้อ 6

          11.4 ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการบริหารสมาคมได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจาก                ทะเบียน เพราะ สมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม

11.5 ขาดการเข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยไม่มีเหตุอันสมควร 2 ครั้งติดต่อกัน

ข้อ 12  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

          12.1 มีสิทธิเข้าใช้สถานที่สมาคมเท่าเทียมกัน

          12.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม

          12.3 มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

          12.4 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม

          12.5 สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคมและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ  ในที่ประชุมคนละ 1 คะแนนเสียง

ผู้ใดที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องเป็นสมาชิกสามัญมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือน

          12.6 มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม

          12.7 มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3  ของสมาชิกทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100  คน   ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญ

          12.8 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด

          12.9 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม

          12.10 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการต่าง ๆ  ของสมาคม

          12.11 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

          12.12 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

หมวดที่  4

การบริหารสมาคม

ข้อ 13  สมาคมดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหารสมาคม

ข้อ 14 คณะกรรมการของสมาคม

          ให้มีคณะกรรมการบริหารสมาคมบริหารขึ้นคณะหนึ่ง เป็นผู้ดำเนินการบริหารงานตามวัตถุประสงค์ของสมาคม  ซึ่งประกอบด้วยผู้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับของสมาคม ข้อ 6 โดยจะต้องเป็นสมาชิกสามัญสมาคมไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และได้เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือได้เข้าร่วมกิจกรรมอื่นใดของสมาคมในปีก่อนมีการจัดการเลือกตั้ง ให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คนแต่ไม่เกิน 15 คน 

ข้อ 15  การเลือกตั้ง

ให้ผู้ที่มีความประสงค์ที่จะสมัครเป็นกรรมการบริหารสมาคมเสนอรายชื่อของคณะบุคคลซึ่งประสงค์จะสมัครเข้ารับการเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนการประชุมใหญ่ของสมาคม โดยต้องระบุรายชื่อบุคคลตามตำแหน่งนายกสมาคม อุปนายก เลขานุการ เหรัญญิก ประชาสัมพันธ์  ปฏิคมและนายทะเบียน  ตลอดจนคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ  ตามความจำเป็นของสมาคม  นายกสมาคม  และอุปนายกให้สมาชิกเป็นผู้เลือกจากสมาชิกที่มีอยู่ในที่ประชุมใหญ่ ให้นายกสมาคม และอุปนายกที่ได้รับเลือกจากสมาชิกที่มีอยู่ในที่ประชุมใหญ่ร่วมกันเสนอรายชื่อบุคคลตามตำแหน่งที่ได้ระบุไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้สมาชิกที่มีอยู่ในที่ประชุมใหญ่รับรอง

          การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคม ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมใหญ่เป็นมติของที่ประชุม 

          คณะกรรมการบริหารสมาคมอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ติดต่อกันไม่เกิน 2 สมัย

ข้อ 16  กรรมการสมาคมที่พ้นจากตำแหน่ง

          กรรมการสมาคมที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือโดยเหตุผลอื่นใดอาจได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการสมาคมได้อีก เว้นแต่ตำแหน่งนายกสมาคม และเหรัญญิก มิได้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ

ข้อ 17  ตำแหน่งกรรมการว่าง

          ถ้าตำแหน่งกรรมการสมาคมว่างลง ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมบริหารแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับของสมาคมแทนตำแหน่งที่ว่าง กรรมการสมาคมผู้ได้รับการแต่งตั้งซ่อมอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทน

ข้อ 18  กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้

          18.1 ตาย

          18.2 ลาออก

          18.3 ขาดจากสมาชิกภาพ

          18.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 19  กรรมการที่ประสงค์จะลาออก

          กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคม   และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติให้ออก

หมวดที่  5

อำนาจหน้าที่  คณะกรรมการบริหารสมาคม

ข้อ 20  ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจการของสมาคมตามวัตถุประสงค์ภายใต้ข้อบังคับนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้

          20.1 กำหนดนโยบายของสมาคมและดำเนินงานตามนโยบายที่กำหนดไว้

          20.2 ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินของสมาคม

          20.3 จัดทำรายงานการเงิน บัญชีงบดุล รายได้ รายจ่าย เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย

          20.4 นำมติของที่ประชุมใหญ่ไปดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคมตามระเบียบการดำเนินงานของสมาคม

20.5 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการเฉพาะด้าน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริหารสมาคม

          20.6 เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของสมาคม

          20.7 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม

          20.8 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี  และประชุมใหญ่วิสามัญ

          20.9 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

          20.10 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนการมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

          20.11 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สิน ทั้งหมดของสมาคม

20.12 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมวิสามัญตามข้อ 12.7 ซึ่งการนี้ จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

20.13 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ในรูปแบบที่สมาชิกเข้าถึงได้ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน    ทรัพย์สิน และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ

          20.14 จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน    

20.15 มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ 21 คณะกรรมการบริหารสมาคมประชุมปีละไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง

          คณะกรรมการบริหารสมาคมจะต้องจัดให้มีการประชุมปีละไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือ  เกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ 22  การประชุมกรรมการ

          การประชุมกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการ ทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 23  การประชุมกรรมการ

          ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม  ถ้านายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมนั้น

ข้อ 24  คณะกรรมการบริหารสมาคมมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

          24.1 นายกสมาคม

– เป็นประธานการประชุมสมาคม

– สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมหรือสมาชิก

– เป็นผู้แทนของสมาคม  การลงลายมือชื่อในเอกสารอันเป็นหลักฐานของสมาคม

– การแต่งตั้งผู้ทำการแทนเมื่อนายกสมาคมได้ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้

          24.2 อุปนายก

                    ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่นายกสมาคมได้รับมอบหมาย และทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน

          24.3 เลขานุการ

                   ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมดเป็นหัวหน้า เจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุม  ต่าง ๆ ของสมาคม

          24.4 เหรัญญิก

                   มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดการบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคมและเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคม

          24.5 ปฏิคม

                    มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคมและจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม

          24.6 นายทะเบียน

                   มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก

          24.7 ประชาสัมพันธ์

                   มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิก และบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย  

หมวดที่  6

การประชุมใหญ่

ข้อ 25  การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2 ชนิด

          25.1 การประชุมใหญ่สามัญ

          25.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 26 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี

          คณะกรรมการบริหารสมาคมจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆ ละ 1 ครั้ง 

ข้อ 27  การประชุมใหญ่วิสามัญ

          การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการบริหารสมาคมเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการที่สมาชิกสามัญได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมวิสามัญตามข้อ 12.7

ข้อ 28 การแจ้งการประชุม

          การแจ้งการประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุ วัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน  โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน   ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ 29  การประชุมใหญ่สามัญประจำปีจะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

          29.1 แถลงกิจกรรมที่ผ่านมาในรอบปี

          29.2 แถลงบัญชีรายรับ – รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกทราบ

          29.3 เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ

          29.4 เลือกตั้งผู้ตรวจบัญชี

          29.5 เรื่องอื่น ๆ ถ้ามี

ข้อ 30 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี

           ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 50 คน ของสมาชิกสามัญทั้งหมด  จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก แล้วให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้  ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุมใหญ่

ข้อ 31  การลงมติ

          การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 32  การประชุมใหญ่ของสมาคม

          การประชุมใหญ่ของสมาคม  ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่  7

การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 33  การเงินและทรัพย์สิน

          การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารสมาคม เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคาร ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมเห็นชอบ

ข้อ 34  การลงนามในตั๋วเงิน

          การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมจะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม  หรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขานุการพร้อมพับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ 35  การสั่งจ่ายเงิน

          ให้นายกสมาคมสั่งจ่ายเงินของสมาคมให้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารสมาคม  และคณะกรรมการบริหารสมาคมจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้  ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ 36  ให้เหรัญญิกเก็บรักษาเงินสด

          ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ 37  เหรัญญิกต้องทำบัญชี

          เหรัญญิกจะต้องทำบัญชี รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง   จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิก หรือผู้ทำการแทน  พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ 38   ผู้สอบบัญชี

          ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 39  อำนาจหน้าที่ผู้สอบบัญชี

          ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการบริหารสมาคมและสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 40  คณะกรรมการบริหารสมาคมจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่  8

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 41  ข้อบังคับของสมาคม

          ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น  และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ 42  การเลิกสมาคม

          การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย  มติที่ประชุมที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด  และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ 43 เมื่อสมาคมต้องเลิก

          เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเรียบร้อย ให้สนับสนุนเป็นทุนเพื่อการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อไป

หมวดที่  9

บทเฉพาะกาล

ข้อ 44  การบังคับใช้ข้อบังคับสมาคม

          ข้อบังคับสมาคมฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับการดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจากฝ่ายปกครองเสร็จสิ้นเป็นต้นไป

ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ ประจำปี 2561 อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี  ติดต่อกันไม่เกิน 2 สมัย

                                                                         ลงชื่อ……………………………………….ผู้จัดทำข้อบังคับ

                                                                                   (นายสุนทร สุขชา)

                                                                         นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้